ประวัติ "หลวงปู่สุด" แห่งวัดกาหลง มหาชัย เจ้าตำหรับ ยันต์ตะกร้อ-เขี้ยวเสือ พระอาจารย์ของ"ตี๋ใหญ่"จอมโจรขมังเวทย์หมายเลขหนึ่ง
ช่วงเวลาปี 2516-2524 สังคมไทย รู้จักและติดตามข่าวสาร เกี่ยวกับจอมโจร ที่ได้ถูกขึ้นบัญชีหมายจับหมายเลข 1 ของประเทศ ที่ชื่อว่า “ตี๋ใหญ่” นายกรประเสริฐ ช่างเขียน และได้รับการขนานนามว่า จอมโจรจขมังเวทย์ เพราะขนาดตำรวจปิดล้อม เห็นหลังไว ๆ ยังไม่สามารถจับตี๋ใหญ่ได้ และมีความเชื่อกันว่า ตี๋ใหญ่อยู่ยงคงกระพัน เพราะเป็นศิษย์ของพระอาจารย์รูปสำคัญ นั่นคือ หลวงปู่สุด แห่งวัดกาหลง
สำหรับประวัติ หลวงปู่สุด พื้นเพเดิมท่านไม่ใช่คนพื้นที่มหาชัย แต่ท่านเป็นชาว อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด เกิดจากตระกูลชาวนา บิดาชื่อ นายมาก มารดาชื่อ นางอ่อนศรี เกิดวันที่ 7 พฤษภาภาคม 2445 ตรงกับ วันพุธ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล ณ บ้านค้อใหญ่ ตำบลคำไฮ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ในแผ่นดินของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพี่น้อง 3 คน คือ 1.นางบุตรดี มูลลิสาร 2.นางสาวหวด สัตตัง 3.พระครูสมุทรธรรมสุนทร
ต่อมาเมื่ออายุ 16 ปี หลวงปู่สุดได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2461 ที่วัดกลางพนมไพร อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด พระครูเม้า เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาได้เป็นพระอาจารย์องค์สำคัญที่หลวงปู่สุดให้ความเคารพนับถืออย่างมาก ก่อนหน้าที่จะบวชเณร หลวงปู่สุดได้รับวิทยฐานะสำเร็จชั้นประถมปีที่ 3 จากโรงเรียนวัดคำหยาด ต.คำไฮ อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด บวชเณรได้ระยะหนึ่ง
หลวงปู่สุดก็เดินทางรอนแรมจากร้อยเอ็ดมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพ เพื่อแสวงหาความรู้ทางธรรมจากสำนักเรียนในกรุงเทพ เข้าใจว่า หลวงปู่สุดคงจะมาบวชเป็นพระที่วัดกาหลง นี่เอง ทั้งนี้เพราะใน พ.ศ.2481 อายุได้ 36 สอบได้นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดกาหลง
สำหรับครูบาอาจารย์ของหลวงปู่สุดนั้น เท่าที่มีข้อมูลชัดเจนระบุไว้ว่ามีอาทิ หลวงปู่เม้า วัดกลางพนมไพรหรือวัดกลางอุดมเวทย์ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ในปัจจุบัน เป็นพระอุปัชฌาย์ที่บวชให้หลวงปู่สุดในสมัยตอนเป็นเณร
หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ และมีการกล่าวกันว่า สำหรับหลวงพ่อรุ่ง ในปี 2484 หลวงปู่สุดเป็นเจ้าคณะตำบล หลวงพ่อรุ่งได้จัดทำเหรียญรุ่นแรกของท่าน หลวงปู่สุดก็ได้อยู่ในการร่วมสร้างเหรียญนี้ด้วยเช่นกัน หลวงพ่อคง วัดบางกระพ้อม ซึ่งเป็นพระที่หลวงปู่สุด นับถือมากเป็นต้น
หลวงปู่สุด ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย รักสันโดษมีความเป็นอยู่เรียบง่าย ยึดพรหมวิหารและสังคหวัตถุธรรมเป็นหลักปฏิบัติ ได้บำเพ็ญศาสนกิจอันเป็นหิตานุหิตประโยชน์เพื่อความเจริญรุ่งเรือง เพื่อความวัฒนาสถาพรแก่พระพุทธศาสนาและปวงชนอย่างแท้จริง พ.ศ. 2521 ได้อาพาธด้วยโรค โพรงจมูกอักเสบ ได้เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว ได้กลับมาปฏิบัติศาสนกิจตามปกติ วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2524 หลวงปู่สุด ท่านได้อาพาธด้วยโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ได้เข้าพักรักษาตัวและทำการผ่าตัดกระเพาะที่โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล กรุงเทพฯ หลังจากออกจากโรงพยาบาลเปาโลแล้ว ได้กลับมาปฏิบัติศาสนกิจ ณ วัดกาหลง ตามปกติ และเนื่องด้วยหลวงปู่สุดชราภาพมาก สุขภาพไม่แข็งแรง ร่างกายอ่อนเพลีย เดินไม่สะดวก เจ็บออดๆแอดๆ เรื่อยมา
จนวันอาทิตย์ ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2526 ตรงกับ วันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 9 ปีกุน เวลา 13.15 น. หลวงปู่สุด ก็ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุได้ 81 ปี 3 เดือน 8 วัน