หลวงพ่อโสธร หรือ หลวงพ่อพระพุทธโสธร เป็นพระพุทธรูปสำคัญของ จ.ฉะเชิงเทรา

ประวัติหลวงพ่อโสธร

หลวงพ่อโสธร หรือ หลวงพ่อพระพุทธโสธร เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา มีพุทธลักษณะ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบ พระชงฆ์ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย ซึ่งวางซ้อนกันอยู่บนพระเพลา ที่มีส่วนสูงถึง ๖ ฟุต ๗ นิ้ว ปัจจุบัน ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยประกอบขึ้นจากหินทราย ๘ ชิ้น แล้วพอกปูนทับให้เป็นองค์ และจากการตรวจสอบพบว่า วัสดุที่ใช้และพุทธศิลป์ เป็นศิลปะในอยุธยาตอนต้น

เรื่องเล่าในประวัติศาสตร์

เชื่อกันว่า หลวงพ่อโสธร ประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธรมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) หรือในช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา ประมาณ ๕๐๐ – ๖๐๐ ปีก่อน ประกอบขึ้นจากหินทรายสมัยอยุธยาตอนต้น (พระเจ้าอู่ทอง รุ่นที่ ๒) ประทับอยู่บนบัลลังก์ ๔ ชั้น ปูพื้นด้วยผ้าทิพย์ ที่นิยมกันมากในสมัยนั้น และยังมีพระพุทธรูปที่เป็นบริวารอีก ๑๐ องค์ ที่ประดิษฐานรวมกันบนชุกชี ซึ่งมีพุทธลักษณะแบบเดียวกัน แต่มี ๒ องค์ ที่เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก สร้างขึ้นจากไม้มงคล มีพุทธลักษณะค่อนมาทางอยุธยาตอนปลาย ซึ่งแตกต่างจากองค์อื่นๆ ที่สร้างขึ้นด้วยหินทราย

ในสมัยนั้น การสร้างขึ้นด้วยหินทราย ถือเป็นที่นิยมกันมากในช่วงอยุธยาตอนต้น ทำให้สันนิษฐานได้ว่าวัดโสธรและองค์ หลวงพ่อโสธร น่าจะประดิษฐานอยู่บริเวณนั้นมาเป็นเวลาช้านาน และมีการบูรณปฏิสังขรณ์ในยุคสมัยต่อมา ซึ่งเดิมที วัดนี้ มีชื่อว่า โสธรมาตั้งแต่แรกแล้ว โดยตั้งชื่อตามคลองโสธร และในเรื่องที่บอกว่าชื่อ วัดหงษ์ เพราะ เสาหงษ์หัก เลยมีการตั้งชื่อว่าเสาทอน หลังจากนั้น ก็พูดเพี้ยนมาเป็น โสธร ไม่มีหลักฐานยืนยันในทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากตำนาน หลวงพ่อโสธร นั้น นิราศฉะเชิงเทราและโคลงนิราศปราจีนบุรี ที่แต่งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็กล่าวถึงวัดโสธรเพียงเท่านั้น และไม่มีการกล่าวถึงตำนานหลวงพ่อโสธรแต่อย่างใด

ตำนานของหลวงพ่อโสธร

ในประวัติศาสตร์ ไม่มีหลักฐานใดที่สามารถยืนยันหรือกล่าวได้ว่า ตำนาน หลวงพ่อโสธร นั้น ใครเป็นผู้สร้าง หรือไม่สามารถรู้ได้ว่ามีการก่อตั้งหรือสร้างขึ้นไว้เมื่อใด มีเพียงการเล่าขานกันต่อๆ มาว่า ในจังหนึ่งของไทย ที่อยู่ทางภาคเหนือ มีพระภิกษุ ๓ องค์พี่น้อง ได้ศึกษาพระธรรมวินัยที่แตกฉานและได้จำแลงกายเป็นพระพุทธรูป 

ณ พื้นที่บริเวณหนึ่ง ได้เกิดการปรากฏตัวขององค์ หลวงพ่อโสธร และชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น ได้ช่วยกันนำเชือกมนิลามาฉุดขึ้น แต่เชือกดันมาขาด และไม่สามารถนำขึ้นมาได้ ก่อนที่พระทั้ง ๓ องค์ นั้นจะจมหายไปในบริเวณที่พระทั้ง ๓ องค์ ได้ลอยทวนน้ำหนี และมีการเรียกขานกันว่า ๓ พระทวน จนต่อมาได้เพี้ยนเป็น สัมปทวน อำเภอเมืองฉะเชิงเทราจวบจนปัจจุบัน

ต่อมา มีการปรากฏตัวขึ้นอีกครั้ง ที่คลองคุ้ง ชาวบ้านเห็นอีก ก็พากันพยายามหาวิธีฉุดองค์ขึ้นฝั่ง แต่ก็ไม่เป็นผลอีก ซึ่งสถานที่นั้นในปัจจุบัน เรียกกันว่า บางพระ หลังจากนั้นมา พระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ ก็ได้แสดงอภินิหารในคลองเล็กๆ ที่อยู่ตรงข้ามกับกองพันทหารช่างที่ ๒ ฉะเชิงเทรา บริเวณนั้น ในปัจจุบัน เรียกว่า แหลมลอยวน และคลองนั้น มีชื่อว่า คลองสองพี่น้อง

เมื่อเวลาผ่านไป มีองค์หนึ่งลอยน้ำมาจนถึงแม่น้ำกลอง และได้ปรากฏตัวขึ้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ชาวประมงได้พร้อมใจกันอาราธนาขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านแหลม หรือวัดเพชรสมุทรวรวิหาร เป็นพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวพุทธศาสนิกชนของจังหวัดสมุทรสงครามให้ความนับถือ ซึ่งในปัจจุบันเรียกกันว่า หลวงพ่อบ้านแหลม

จวบจนองค์ที่ ๒ ได้ปรากฏตัวขึ้นที่หน้าวัดหงษ์ จากการเล่าขานของชาวบ้าน ที่วัดแห่งนี้ เดิมที มีเสาใหญ่ ประดับด้วยหงษ์ที่ทำจากทองเหลืองอยู่บนยอดเสานั้น จึงได้ชื่อว่าวัดหงษ์ ต่อมา หงษ์ที่ยอดเสานั้นตกลงมาหัก ทางวัดจึงนำธงไปติดไว้ที่ยอดเสาแทนรูปหงษ์ จึงมีการเรียกกันว่า วัดเสาธง ต่อมาได้เกิดมีลมพายุแรงพัดเสาต้นนี้หักลงส่วนหนึ่งอีกครั้ง จึงมีการเรียกชื่อวัดเป็น วัดเสาทอน และก็เพี้ยนไปจนกลายเป็นวัดโสธรในปัจจุบัน

ชาวบ้านต่างพากันหลั่งไหลมาอาราธนาฉุดขึ้นฝั่งแต่ไม่สำเร็จ ในตอนนั้น ได้มีอาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษท่านหนึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ในเรื่องของไสยศาสตร์และรู้เรื่องราวของการทำเทพไสย รู้หลักและวิธีการอาราธนาที่สัมฤทธิผล จึงได้ทำพิธีการปลูกศาลเพียงตาบวงสรวง และกล่าวอัญเชิญชุมนุมเทวดาอาราธนา และใช้สายสิญจน์ผูกคล้องที่พระหัตถ์ขององค์พระพุทธรูป จากนั้นค่อยๆ ฉุด ลากขึ้นมาบนฝั่ง จนทำสำเร็จ เมื่อพระพุทธรูปเสด็จขึ้นมาบนฝั่งแล้ว เป็นที่ปีติยินดีอย่างยิ่งของชาวบ้าน จึงได้พร้อมใจกันอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่พระวิหารวัดโสธร และเรียกขนานนามว่า พระพุทธโสธร หรือ หลวงพ่อโสธร ตั้งแต่นั้นมา 

และองค์สุดท้ายได้ลอยน้ำไปอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นก็พากันอาราธนาขึ้นฝั่ง แต่ก็ไม่สำเร็จ เชื่อกันว่าประชาชนต่างมาช่วยกันฉุดถึง ๓ แสนคน สถานที่นั้นจึงถูกเรียกว่า สามแสน และภายหลังมีการเล่าขานและเรียกกันเพี้ยนมาเป็น สามเสน ในปัจจุบัน หลังจากนั้น พระพุทธรูปองค์นี้ก็ได้ลอยไปผุดขึ้นที่คลองสำโรง ในจังหวัดสมุทรปราการ ประชาชนจึงได้อาราธนาขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดพลับพลาชัยชนะสงครามหรือวัดบางพลีใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มากอีกรูปหนึ่งของเมืองไทย ได้แก่ หลวงพ่อโต ณ วัดบางพลีใหญ่ใน หรือในบางตำนาน มีการกล่าวถึงองค์พระพุทธรูปไว้ว่า จริงแล้วพระพุทธรูปที่ผุดขึ้นมานั้นมีพี่น้องอยู่ ๕ องค์ โดยมี หลวงพ่อไร่ขิง ณ วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม และหลวงพ่อ(ทอง) เขาตะเพลา ณ วัดเขาตะเพลา จังหวัดเพชรบุรี แต่ในบางพื้นที่ก็เชื่อกันว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีพี่น้องถึง ๖ องค์ โดยนับรวมกับหลวงปู่หิน ณ วัดอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest
LinkedIn

การชำระเงินและการติดต่อ