หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร จ.นครราชสีมา

หลวงพ่อคูณ

เกิดเมื่อ 04 ตุลาคม พ.ศ.2466

อุปสมบท : 05 พฤษภาคม พ.ศ.2487

สภาณภาพ : มรณภาพ(เมื่อ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2558

  • วันที่ 29 ม.ค. 2562 พิธีพระราชทานเพลิงศพพระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ พระเกจิดังที่คนไทยนับถือ เพราะท่านเป็นพระนักพัฒนา สร้างคุณูปการหลายๆอย่าง
  • หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เป็นบุตรของ คุณ พ่อบุญ แม่ทองขาว ฉัตรพลกรัง เกิดที่บ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 4 ต.ค. ปี 2466 ตรงกับแรม 10 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน มีน้องสาว ร่วมสายโลหิตเดียวกัน 2 คน คือ 1.นาง คำมั่น วงษ์กาญจนรัตน์ 2.นาง ทองหล่อ จันเพ็ง
  • ชีวิตในเยาว์วัย หลวงพ่อคูณ ถือกำเนิดในตระกูลที่ยากจน บิดา-มารดามีอาชีพ ทำนา-ทำไร่ เมื่อ ปี 2477 หลวงพ่อคูณ มีอายุได้ 11 ปี โยมแม่ได้ถึงแก่กรรม จากนั้นโยมพ่อได้นำหลวงพ่อคูณไปฝากเป็นศิษย์ไว้ที่วัดบ้านไร่ เพื่อให้เรียนหนังสือกับพระสงฆ์ โดยมีพระอาจารย์ หลี อารกฺขยโย พระอาจารย์ เชื่อม วิรโช พระอาจารย์ ฉายา กิตฺติปญฺโญ ทั้งสามรูปล้วนแต่เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ในเวลาต่อมาด้วยกันทั้งสิ้น
  • พระอาจารย์ หลี นอกจากสอนให้ท่องหนังสือสวดมนต์แล้ว ยังเป็นทั้งครูสอนภาษาไทย และภาษาขอม แล้วท่านยังเป็นครูที่เข้มงวดมาก ทั้งเฆี่ยน ตี จนหลวงพ่อคูณกลัว และตั้งอกตั้งใจเรียน
  • เมื่อหลวงพ่อคูณ มีอายุได้ 16 ปี ได้ออกจากวัดบ้านไร่ ไปอยู่ในความอุปการะของน้าชาย ชื่อ โหม น้าสะใภ้ ชื่อ น้อย ศิลปะชัย หลวงพ่อคูณได้ช่วยน้าทั้งสองทำ ไร่ทำนาอย่างหามรุ่งหามค่ำด้วยความขยันขันแข็ง อยู่มาวันหนึ่ง หลวงพ่อคูณ รู้สึกเหน็ดเหนื่อยมาก จึงได้ทอดกายนอนเผลอหลับอยู่บนคันนาเป็นเวลานาน นาง น้อยน้าสะใภ้เห็นหลานนอนเช่นนั้น จึงพูดเชิงเปรียบเทียบขึ้นว่า คูณไม่ไหวเหรอหลาน ถ้าไม่ไหวก็ไปบวช เมื่อหลวงพ่อคูณได้ยินเช่นนั้น จึงตอบขึ้นว่า “น้าคอยดูเด้อหากฉันได้บวชแล้ว ขอรับรองว่าฉันจะไม่ยอมสึกเป็นอันขาด จะบวชจนวันตายเลยแหละ” หลวงพ่อคูณอยู่กับน้าได้2 ปี
  • ด้วยความเป็นคนหนุ่มหลวงพ่อคูณ อยากเป็นหมอเพลงโคราช จึงได้ชวนนาย เล เพียมขุนทด ซึ่งเป็นญาติอายุอยู่ในวัยเดียวกัน อยู่บ้านเดียวกัน และมีน้ำเสียงไพเราะกังวานเดินทางด้วยเท้าบุกป่าฝ่าดงจากบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด มุ่งหน้าสู่บ้านมะระ ต.ดอนชมพู อ.โนนสูง ซึ่งต้องใช้เวลาเดินเท้าถึง 5 วัน 5 คืน เมื่อไปถึงบ้านมะระแล้ว จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของครูสน ซึ่งเป็นครูเพลงที่มีชื่อเสียง มีลูกศิษย์ลูกหาชายหญิงเป็นจำนวนมาก เมื่อครูสนทราบความประสงค์และมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ จึงได้รับหลวงพ่อคูณและนาย เล เป็นศิษย์โดยการช่วยครูสน ทำนาเพื่อเป็นการแรกเปลี่ยนกับการหัดเป็นหมอเพลงโคราช
  • ในขณะที่หัดเป็นหมอเพลงอยู่นั้น หลวงพ่อคูณ ได้พบหญิงสาวที่ถูกใจอยู่คนหนึ่ง ชื่อว่า “รำพึง” ซึ่งต่อมาได้เป็นหมอเพลงที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงการเพลงโคราช หลวงพ่อคูณได้แต่แอบรักอยู่ โดยฝ่ายหญิงไม่ได้รู้อยู่เป็นเวลาแรมปี ครั้นจะบอกให้เขารู้ความในใจก็นึกกระดากอาย จึงเก็บความในใจเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว ต่อมาหลวงพ่อคูณได้ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดแล้ว ก็เอ่ยปากกราบลาครูสน และชักชวนนายเล กลับบ้าน พร้อมกับความรู้ที่ครูสน ให้หลวงพ่อคูณ เป็นบทเพลงโคราชบทหนึ่ง เนื้อหาเป็นบทเกี้ยวพาราสี ตัดพ้อต่อว่าสาวเพื่อทำให้สาวเกิดความสงสารเห็นใจบทเพลงนี้อยู่มีว่า
    • “โอ…..โอม…ที่เขาตักบาตร…ทำบุญ…ถึงตัวไอ้หมอคูณก็ย่อมได้ทำบ่อย สาวเอยสาวน่อยที่ยอมให้ทำบ้าง บัดนี้รูปของเขาน่ะคือหมื่นคือขุน บัดว่ารูปของเขาน่ะคือหมื่นคือขุน บัดว่ารูปไอ้คูณนี่คือลิงคือค่าง คือ ลิง คือค่างรูปร่างไม่เหมือนใคร เหมือนเขาก่อไฟ..คือ..ดุ้น..ไม่ทำเบี่ยงทำบ่าย ก็ย่อมไม่ทำบ่อย เมื่อครั้งเป็นเด็กน่อย พี่พี่ก็ยอมให้ทำได้บ้าง ผีเอย เมื่อไรจะมากินข้า อยู่ได้ก็ชิงแต่หมา กินเข่า เสือใหญ่เท่าควายเอย เมื่อไรจะมากิน..คูณ…”
  • หลังจากกลับมาจากการเรียนเป็นหมอเพลงโคราช หลวงพ่อคูณได้ ไปอยู่ในความอุปการะของน้าเขย ชื่อ เขียว น้าสาวชื่อ ทองมี พาวขุนทด เป็นเวลา 2 ปี ต่อมาย้ายไปอยู่ในความอุปการะของน้าชาย ชื่อ พรม น้าสะใภ้ชื่อ รอด ศิลปะชัย อีก 2 ปี จนอายุได้ 21 ปี จึงเข้าบรรพชาอุปสมบท
  • ช่วงที่หลวงพ่อคูณ มีอายุได้21 ปี เกิดมีจิตศรัทธาที่จะบรรพชาอุปสมบท ในบวรพุทธศาสนา ตามประเพณีเพื่อทดแทนพระคุณบิดา-มารดา จึงได้บรรพชาอุปสมบท ณ.พัทธสีมา วัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด เมื่อวันที่ 2 พ.ค. คม 2487 เวลา 11.00 น.โดยมีพระครูวิจารยติกิจอดีตเจ้าอาวาสวัดถนนหักน้อย อดีตเจ้าคณะอำเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการสี วัดบ้านจั่น อ.ด่านขุนทด เป็นกรรมวาจาจารย์ พริธการสุข วัดโคกรักษ์ อ.ด่านขุนทด เป็นอนุสาวนาจารย์
  • คำอธิฐานของหลวงพ่อคูณ “กูตั้งใจจะบวชซัก 3 พรรษา” ครั้งแรกก่อนจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ หลวงพ่อคูณ ตั้งใจจะบวชให้ได้สามพรรษา เมื่อบวชแล้วจิตใจ หลวงพ่อคูณ ก็ครุ่นคิดถึงภาพในอดีตตั้งแต่เยาว์วัย เห็นสภาพแวดล้อม ความยากลำบากของท้องถิ่น ทุรกันดารในบ้านเกิดเมืองนอน จึงคิดอยู่ตลอดเวลาว่า “ทำอย่างไรจะช่วยคนเหล่านี้ให้พ้นทุกข์ได้ อันตัวกูก็ต่ำต้อยน่อยค่า อย่างนี้ ถ้าสึกออกไปจะทำประโยชน์อะไรให่คนในแผ่นดิน ลำพังการเลี้ยงตัวเองก็เอาไม่รอด แต่กี่บวชถือศีลอยู่ หากมีความรู่ มีคุณธรรม อาจจะช่วยเหลือเกื้อกูลพวกเขาให่พ่นวิบากกรรมได้มากกว่า” (ภาษาโคราช) หลังจากได้คิดหลวงพ่อคูณจึงตัดสินใจอย่างแนวแน่ว่าจะอุทิศกายถวายชีวิตเพื่อบวรพระพุทธศาสนาตลอดไป
  • เมื่ออุปสมบทแล้ว หลวงพ่อคูณ ได้จำพรรษา อยู่ ณ วัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด โดยมี หลวงพ่อคง พุทธฺสโร เป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อคูณได้อยู่รับใช้หลวงพ่อคงไม่นานนัก หลวงพ่อคง จึงได้นำหลวงพ่อคูณ ไปฝากเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดหนองโพธิ์ อ.เทพารักษ์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน ยิ่งเรื่องญาณสมาธิแล้ว หลวงพ่อแดงมีชื่อเสียงโด่งดังมาก หลวงพ่อคูณ ตั้งใจศึกษาหาความรู้และเข้าใจในการปฏิบัติในด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นอย่างดี สร้างความพอใจให้แก่หลวงพ่อคง เป็นยิ่งนัก หลวงพ่อคงจึงแนะนำหลวงพ่อคูณว่า การเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐาน จะรู้แจ้งเห็นจริงได้นั้นจะอยู่กับที่ไม่ได้ ควรหาที่วิเวกสงบเจริญศีลภาวนา ให้จิตสงบยิ่งขึ้น พระวิปัสสนาควรถือธุดงควัตรเป็นหลัก อีกทั้งเป็นการประกาศศาสนาให้คนทั่วไปได้ทราบด้วย
  • การเดินธุดงค์เป็นสิ่งที่หลวงพ่อคูณ คิดอยู่เสมอเมื่อมีโอกาส จึงได้ปรารภกับหลวงพ่อคงว่า” งั้นออกพรรษานี้ผมจะเดินธุดงค์เลยครับ” การออกธุดงค์จึงเริ่มขึ้น หลวงพ่อคงได้ร่วมเดินทางด้วยในระยะแรกๆ พร้อมกับได้สอน พุทธอาคม และไสยเวทย์ประกอบการเรียนกัมมัฏฐานให้ด้วย พุทธอาคมที่สอน ก็คือการฝังตะกรุด เมตตามหานิยม คงกระพันชาตรี ซึ่งหลวงพ่อคงเป็นเกจิอาจารย์ชื่อดัง ผู้หนึ่งโดยเฉพาะ การฝังตะกรุดในสมัยนั้น ได้ถ่ายทอดวิชาอาคมให้แก่หลวงพ่อคูณ จนหมดสิ้น แม้เรื่องนี้พระป่าสายกัมมัฏฐานจะไม่สนใจกันเพราะถือว่าเรื่องฤทธิ์เดชเป็นของเล่นไม่ควรยึดติดต้องหลีกเลี่ยง แต่หลวงพ่อคง อธิบายว่าการกระทำไดๆที่ขัดกับหลักพระศาสนาและไม่ได้อยู่ในพระคัมภีร์ หากเป็นการกระทำที่ช่วยเหลือผู้อื่น ให้พ้นจากกรรม และเป็นประโยชน์สุขแกสาธารณชนแล้วก็ปฏิบัติได้
  • ปี 2492 หลวงพ่อคูณ เดินธุดงค์ ไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหลือ ค่ำไหนอาศัยปักกรดจำวัดตรงนั้น ไปถึงจ.นครพนม และเข้าสู่ประเทศลาว จำพรรษาอยู่ที่ถ้ำเขาควาย 1 พรรษา
  • ปี 2493 หลวงพ่อคูณ ธุดงค์ย้อนลงมาทางทิศให้ของประเทศลาว จำพรรษาอยู่ที่ สีทันดร 1 พรรษา
  • ปี 2494 หลวงพ่อคูณ เดินธุดงค์เข้าสู่ประเทศกัมพูชา และจำพรรษาอยู่ที่ เมืองโพธิสัตว์ 1 พรรษา การเดินธุดงค์ในครั้งนั้น หลวงพ่อคูณ ได้ผจญกับภัยอันตราย นานัปการ เช่นสัตว์ป่า ไข้ป่า และอื่นๆอีกมากมายเนื่องจากในขณะนั้นป่าดงพญาไฟ ยังรกทึบเต็มไปด้วยอันตรายนาๆนับประการ เดินในป่าบ้างครั้ง 2-3วันถึงจะได้พบบ้านผู้คน ค่ำมืดที่ไหนก็หยุดพักผ่อน อาหารจะฉันก็ไม่มี แต่หลวงพ่อคูณ ท่านก็ไม่ได้อิดโรยมากนัก เมื่อพบบ้านผู้คนญาติโยมที่ได้พบต่างแสดงความยินดี เนื่องจากชาวบ้านต่างๆนับถือพุทธศาสนา เช่นเดียวกับประเทศไทยเรา หลวงพ่อคูณ จะเทศสั่งสอนญาติโยมในแต่ละที่ ที่เดินทางไปสถานที่ละไม่เกิน 3 คืน
  • ปี 2495 หลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงพ่อคูณ เดินทางออกจากเมืองโพธิสัตว์ เพื่อกลับวัดบ้านไร่ ญาติโยม พี่น้อง ลูกหลาน ที่ทราบข่าวการกลับมาของหลวงพ่อคูณ ต่างพากันดีอกดีใจไปตามๆกันในการกลับมาของหลวงพ่อคูณ และช่วยกันนิมนต์ให้หลวงพ่อคูณจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านไร่ เพื่อจะได้เป็นแกนนำในการทำนุบำรุงปฏิสังขรณ์วัด ศาลาการเปรียญ ที่ชำรุดทรุดโทรม เนื่องจากก่อสร้างมานานเป็นเวลาแรมปี หลวงพ่อได้รับปากรับนิมนต์จากญาติโยม
  • จากนั้นหลวงพ่อคูณ ได้รวบรวมญาติโยมที่มีจิตอันเป็นกุศล เริ่มพัฒนาวัดบ้านไร่ และวัดวาอารามต่างๆ เช่นกุฏิสำนักสงฆ์ ศาลาการเปรียญวัดต่างๆ สมัยนั้น ยังเต็มไปด้วย ป่าไม้นานาพันธุ์ หลวงพ่อคูณ เป็นนักเลื่อยไม้ด้วยมือที่มีความประณีตมาก โดยมีคุณตาสน ปัจจุบันอยู่ที่ บ้านมะค่าครุป อ.เทพารักษ์ เป็นคู่เลื่อยมือกับหลวงพ่อคูณ วัด-โรงเรียน ต่างๆที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารทั่วอ.ด่านขุนทด หลวงพ่อคูณ จะนำทีมจิตอาสาของท่านเข้าไปร่วมกับชาวบ้าน พัฒนา
  • ต่อมาหลวงพ่อคูณ ได้ขอบริจาคที่ดินจากนาย ชื่น นาคขุนทด กับนาย มี เทียมขุนทด ซึ่งมีที่ดินอยู่ทางด้านทิศใต้ปากทางเข้าวัดบ้านไร่ ห่างจากวัดบ้านไร่ประมาณ 2-3 ร้อยเมตร เพื่อก่อสร้างโรงเรียนให้เป็นเอกเทศถาวร โดยรวบรวมเงินบริจาค จากญาติโยมได้ 3-4 พันบาท เพื่อนำเงินดังกล่าวไปซื้อไม้ซุง จากโรงเลื่อย และติดต่อทางการขอตัดไม้ที่อยู่ใกล้ๆวัดบ้านไร่ นำมาเลื่อยเป็นไม้พื้นไม้กระดาน โดยใช้แรงชาวบ้านช่วยกันเลื่อยไม้ ก่อสร้างโรงเรียนเป็นอาคารไม้ ชั้นเดียวใต้ถุนโล่ง ขนาดสามห้องเรียน หลวงพ่อคูณ ยังได้ประกอบพิธีเจิม เพื่อเป็นศิริมงมลโดยการเสี่ยงปีนหน้าต่างเจิมอย่างน่าหวาดเสียว พิธีเปิดโรงเรียนอย่างหรูหรา ภายใต้หลังคาปะรำพิธีที่มุงด้วยก้านมะพร้าว มีนาย ชัชวาล สุวรรณพงษ์ นายอำเภอด่านขุนทด สมัยนั้น เดินทางมาเป็นประธานเปิดโรงเรียนบ้านไร่ทองคูณคุรุราษฏร์สามัคคี) (เดิมชื่อว่าโรงเรียนประชาบาลวัดบ้านไร่)
  • ปี 2508 สมัยนั้น อ.ด่านขุนทด เกิดความแห้งแล้ง ชาวบ้านได้รับความยากลำบาก ไม่มีเงินงบประมาณ จากราชการในการจะจัดหาเครื่องจักรกลมีขุดเจาะเหมือนอย่างปัจจุบันนี้ หลวงพ่อคูณ เห็นว่า ถ้าเราไม่ต่อสู้กับความแห้งแล้งพี่น้องเราเดือดร้อนแน่ จึงได้ชักชวนญาติโยมช่วยกันขุดสระน้ำ ขนาดใหญ่ ด้วยแรงงานญาติโยมช่วยกัน ในที่ดินของวัดบ้านไร่ หลวงพ่อคูณประกาศลั่น “ว่า กูจะขุดสระน้ำขนาดใหญ่ ในที่ดินวัด กว้างขวางพอจะทำได้ กูจะสร้างทั้งๆที่ ไม่มีเงินนี่แหละ ก็ขุดมันเองเดี๋ยวก็คงเสร็จเข้าสักวัน กูจะทำให้ชาวบ้านเพื่อตอบแทนข้าวน้ำที่เขาให้กูกินทุกวัน
  • ปี 2509 ก็ได้สระน้ำขนาด 35ไร่ 3 งาน 92 ตารางวา ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากชาวบ้าน
  • “เมื่อปี 2512 มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับทหารอากาศ สังกัดกองบิน 3 จังหวัดนครราชสีมา คือ จ.ท.วิญญู สิงโตแก้ว ถูกยิงที่อำเภอ ท่าลาน จ.สระบุรี ผู้บังคับบัญชาขณะนั้น คือ น.อ. ภุชงค์ ยศไกร จึงให้นายทหารรัฐธรรมนูญ ไปรับตัวมาเพื่อทำการรักษาพยาบาล ที่แผนกแพทย์กองบิน 3 จังหวัดนครราชสีมา และได้สอบถาม จ.ท. วิญญู ว่า ทำไมจึงไม่ตาย และยิงไม่เข้า จ.ท.วิญญู ตอบว่าไม่ทราบ แต่มีของติดตัวคือตะกรุดทองคำ และเหรียญหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ วัดบ้านไร่ ผู้บังคับบัญชากองบิน3 จึงมอบให้ ร.อ. สมบุญ จันทสีหราช กับ พ.อ.อ. พีระพล ศรีอำพลชาญ เดินทางไปพบหลวงพ่อคูณ ณ.วัดบ้านไร่ โดยเฮลิคอปเตอร์ เมื่อเดินทางไปถึงวัดบ้านไร่ ก็พบว่าหลวงพ่อคูณอาพาธ จึงกลับมารายงานให้ผู้บังคับบัญชากองบิน 3 จังหวัดนครราชสีมาให้ทราบ”
  • ต่อมา ได้นิมนต์หลวงพ่อคูณไปรักษาตัวที่กองบิน 3 โดยมี ร.อ.นพ. วิรุฬ นิลภมร เป็นผู้ทำการรักษาและแพทย์ทำการวินิจฉัย อาการของหลวงพ่อคูณว่าเป็นโรคปลายประสาทอักเสบ
  • หลวงพ่อคูณ อาพาธ ปี 2512 ต้องไปจำพรรษาที่วัดสระแก้ว ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา เพื่อความสะดวกในการรักษาอาการอาพาธ ปี 2513 หายจากอาการอาพาธ
  • ปี 2514 จากภูมิภาค เข้าสู่เมืองหลวง หลวงพ่อคูณ จำพรรษาที่วัดใหม่พิเรนทร์ แขวง วัดอรุณ เขตบางกออกใหญ่ กรุงเทพฯ เมื่อออกพรรษาแล้วจึงเดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านไร่ปี 2515
  • จากนั้น หลวงพ่อคูณ เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เมื่อ นาย ทอง อ้อจันทึก ซึ่งเป็น คนบ้านน้อย ต.สำนักตะคร้อ อ.ด่านขุนทด ปัจจุบัน เป็นอ.เทพารักษ์ จ.นครราชสีมา ซึ่งเคยมาพักอาศัยอยู่วัดบ้านไร่ และฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อคูณ ซึ่งหลวงพ่อคูณ ได้เมตตาฝังตะกรุดพร้อม ปลุกเสก ตะกรุดโทนที่ทำมาจากฝาบาตร ความยาวประมาณ 5 นิ้วให้แก่นายทอง
  • “นายทองเกิดความฮึกเหิมมาก ไม่เกรงกลัวผู้ได ได้ทำตัวเป็นโจรปล้นฆ่าผู้คนเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าเสือทอง การปล้นฆ่าของเสือทอง สร้างความหวาดกลัวให้แก่ชาวบ้านเป็นยิ่งนัก จากการปล้นฆ่าศพแล้วศพเล่า ทำให้เสือทอง สติแตก หลังจากฆ่าเสร็จตัดใบหูผู้ที่ถูกฆ่า นำติดตัวไปสั่งเหล้าร้านค้าตามหมู่บ้านกิน แล้วขอให้เจ้าของร้านค้า ใช้เตาถ่านก่อไฟมาให้ จากนั้นเสือทองก็จะนำใบหูที่นำมาย่างกินแก้มเหล้า เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความสะเทือนขวัญและหวาดผวาให้แก่ชาวบ้านเป็นยิ่งนัก เจ้าหน้าที่บ้านเมืองพยายามล้อมจับครั้งแล้วครั้งเล่า เสือทองก็ฝ่าวงล้อมของเจ้าหน้าที่มาได้ทุกครั้ง เป็นที่เรื่องลือของชาวบ้านโดยทั่วไป โดยเสือทองมีสมุนคู่ใจ คือเสือจีระ ”
  • เนื่องด้วยชาวบ้านในถิ่นนั้นต้องขยาดด้วยเรื่องของเสือทั้ง 2 ตั้งตัวเป็นโจร “หลวงพ่อต้องออกไปเอาตัวมันให้ได้นะ กำนันสั่งมา” มีชาวบ้านคนหนึ่งวิ่งมาบอกยืนยันคำสั่งของกำนันบ้านไร่
  • “หลวงพ่อคูณ” ได้ยินก็ร้อนฉ่าไปทั้งตัว ถึงเวลาแล้วที่ท่านจะเกลี้ยกล่อมให้ลูกเสือลูกตะกวดเข้ามอบตัวเสียทีแล้วท่านก็ลงจากกุฎิทั้งๆที่ไม่ได้ครองผ้า นอกจากสบงตัวเดียวออกเดินตามหลัง ชาวบ้านรุดไปยังสถานที่ที่กำนันกับชาวบ้านล้อม 2 เสือร้ายเอาไว้
  • หลวงพ่อคูณ ไปปรากฎตัวต่อหน้า กำนันก็ดีใจเพราะเสือทั้ง 2 นั้นเป็นลูกศิษย์และหลวงพ่อคูณ ก็คงจะเกลี่ยกล่อมให้มอบตัวได้
  • จากนั้น กำนัน ก็ตะโกนบอก เสือร้ายทั้ง 2 ว่าไอ้ทอง หลวงพ่อมึงมาเห็นมั๊ย…
  • แล้วก็ดันหลังหลวงพ่อคูณ ให้ออกไป ยืนเด่นบนหัวคันนาเพื่อให้เสือทองได้เห็นพร้อมร้องตะโกนให้มอบตัว ฝ่ายเสือทอง เกิดความลังเลจะแหกด่านชาวบ้านออกไปก็ยากเพราะถูกล้อมหมดแล้วจะยิงฝ่าออกไป ตายแค่ไม่กี่คนกระสุนหมดเมื่อกระสุนหมดจะกลายเป็นเสือจนตรอก คิดมาคิดไป อยากมอบตัวต่อขืนสู้ก็จะตายกันเปล่าๆ
  • แต่”เสือจีระ” ไม่ได้เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อคูณไม่ยอมมอบตัว ขอตายอย่างเสือดีกว่า ในระหว่างนั้น ฝ่ายกำนันก็ดันหลัง”หลวงพ่อคูณ” เดินไปข้างหน้า”เสือจีระ”เห็นก็หันหลังจะวิ่งหนีขณะที่ “เสือทอง” ยืนนิ่งเฉย โยนปืนทิ้งยินดีมอบตัว “หลวงพ่อคูณ” เห็น “เสือจีระ”เผ่นหนีท่านก็ถูกกำนันดันหลังเลยต้องพลอยวิ่งตาม “เสือจีระ”ไปด้วย
  • เสือจีระ เห็นจวนตัวข้างหน้ามีชาวบ้านซุ่มอยู่ก็หันหลังกลับมาลั่นไกใส่ หลวงพ่อคูณ แชะ แชะ ปรากฎว่ากระสุนด้านยิงไม่ออก เสือจีระ เตรียมจะลั่นไกอีกครั้งแต่ช้าไป หลวงพ่อคูณ โถมเข้ากอดรัดจนล้มลงแล้วกำนันกับชาวบ้านก็แห่กันเข้ามาจับตัวเอาผ้าขาวม้ามัดมือไพล่หลังจนแอ่น
  • ตอนที่ท่านโถมเข้าไปหา เสือจีระ หลวงพ่อคูณท่านก็กลัวเหมือนกัน แต่ที่ตัดสินใจ โถมเข้าไปเพราะกลัวเสือจีระจะลั่นไกนัดที่ 3 ถ้ากระสุนไม่ด้าน อกของท่านก็คง ต้องพรุน จึงต้องพุ่งเข้าไปกอดรัดจน เสือจีระ ล้มหงายท้อง หลวงพ่อคูณ ทับอยู่ข้างบนรัดแน่นไม่ยอมปล่อย เพราะถ้าปล่อยมันคว้าปืนท่านก็เสร็จ หลังจากนั้นกำนันก็นำทั้งสองเสือร้ายไปมอบให้ตำรวจ สภ.ด่านขุนทด
  • ในช่วงนั้น จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี มีคำสั่ง ให้ประหาร ชีวิตเสือทอง อ้อจันทึก กับเสือจีระ ณ.อำเภอด่านขุนทด
  • โดยการประหารชีวิตตรงกับวันที่ 1 ต.ค. 2515 การตายของ 2 เสือร้ายทำให้หลวงพ่อคูณ สลดใจอย่างยิ่ง และท่านสำนึกในใจว่า เพราะท่านแท้ๆ2 เสือร้ายจึงถูกประหารชีวิต ตอนแรกท่านนึกว่าจะโดนลงโทษแค่จำคุก เพราะในทางธรรมหลวงพ่อคูณ ท่านรู้สึกว่าท่านมีบาปเหมือนจับคนไปส่งให้คนอื่นฆ่า
  • นับตั้งแต่นั้นมา หลวงพ่อคูณ ท่านก็เดินทางออกจากวัดบ้านไร่ ไปจำพรรษาที่วัดแห่งอื่น อีกหลายๆวัด
  • โดยปี 2516 หลวงพ่อคูณ ได้ไปจำพรรษาที่วัดสระแก้ว พร้อมปรารภกับเจ้าอาวาสในขณะนั้นว่า กุฏิสงฆ์ชำรุดทรุดโทรมมาก จึงเห็นสมควรสร้างกุฏิขึ้นเป็นที่พำนักสงฆ์ใหม่ ศิษยานุศิษย์ได้สร้างวัตถุมงคลขึ้น ในปี 2517 พุทธศาสนิกชนเลื่อมใสศรัทธาร่วมบริจาคจนกุฏิสำเร็จ จำพรรษาอยู่วัดสระแก้วไม่นาน ญาติโยมจากกรุงเทพฯได้นิมนต์ให้ไปอยู่วัดใหม่พิเรนทร์ เขตบางกอกใหญ่ อีกครั้ง หลวงพ่อคูณก็รับปากนิมนต์
  • จากอีสาน สู่ภาคใต้ ปี 2520 หลวงพ่อคูณได้ไปจำพรรษาที่วัดสว่างอารมณ์ ต.หาดราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต
  • จากใต้ขึ้นเหนือปี 2524 หลวงพ่อคูณได้ ไปจำพรรษาที่วัดพันอ้น ต.ช้างม่อย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ หลวงพ่อคูณ ได้ประสบการณ์แปลกๆ คือ เจ้าอาวาส จะนำสวดมนต์ทำวัตรทุกวัน โดยแต่ละวันจะสวดไม่ซ้ำกัน ทำให้จำบทสวดมนต์ ได้ทบทวนหมุนเวียนเปลี่ยนไป เป็นการสอนให้ลูกศิษย์ท่องจำบทสวดมนต์ได้จำนวนมากกว้างขวาง และแม่นยำในตัว
  • จากเหนือสู่ตะวันออกปี 2525 หลวงพ่อคูณได้เดินทางไปจำพรรษาอยู่ที่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี
  • จากนั้นปี 2527 หลวงพ่อคูณ จึงได้กลับมาจำพรรษาที่วัดสระแก้ว อำเภอเมือง จ.นครราชสีมา อีกครั้ง
  • ปี 2528 หลวงพ่อคูณได้เดินทางไปจำพรรษาที่ วัดสิงหาราม บ้านบัวชุม อ.บัวชุม อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี และเดินทางกลับมาตุภูมิ ในวันที่ 10 พ.ย. 2528 ชาวอำเภอด่านขุนทด พิจารณาเห็นว่า หลวงพ่อคูณ ได้บำเพ็ญบารมีมากแล้ว สมควรจะกลับมาอยู่กับลูกหลานญาติโยม เพื่อเป็นผู้นำในการบำเพ็ญกุศล ให้ชาวด่านขุนทด ได้ชื่นชมบารมี จึงนิมนต์ให้หลวงพ่อคูณกลับมาอยู่วัดบ้านไร่
  • หลวงพ่อคูณ จำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านไร่ อย่างมีความสุขกับคณะศิษย์ยานุศิษย์ ชื่อเสียงของหลวงพ่อคูณ เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ต่างเดินทางกันมากราบนมัสการ เพื่อขอพรบารมีจากท่าน แต่ไม่วายให้หลวงพ่อคูณ ช่วยปลุกเสกฝังตะกรุดทองคำให้ ซึ่งทำจากคำสวิสฯบริสุทธิ์ 99 เปอร์เซ็นต์ ขนาด10 คูณ 8 มิลลิเมตร ม้วนเล็กๆ สอดใต้ผิวหนัง บริเวณต้นแขนด้านใน
  • แรกๆ หลวงพ่อคูณ จะเป็นผู้ลงมือตอกฝังตะกรุดทองคำด้วยตนเอง ต่อมาในระยะหลัง จำนวนคณะศิษย์มาเพิ่มขึ้น จากวันละเป็นร้อยคน กลายเป็นวันละหลายๆพันคน ซึ่งบางวันก็นับเป็นเรือนหมื่น หลวงพ่อคูณ จึงจำเป็นให้คณะศิษย์ใกล้ชิดทำการฟังตะกรุดแทน แต่หลวงพ่อคูณ จะเป็นผู้ถ่มนำลายใส่บริเวณปากแผลที่ฝังตะกรุดให้ทุกรายไป หลวงพ่อคูณจะประกอบพิธีฟังตะกรุดทองคำ เพียงวันเสาร์วันเดียวเท่านั้น ทำให้ในบางครั้งเป็นวันเสาร์ที่สำคัญ เช่น วันเสาร์ตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 และ 5 ค่ำ ซึ่งเรียกกันว่าเสาร์ 5 คณะศิษย์หลั่งไหลกันเดินทางเข้ามาให้หลวงพ่อคูณ ฝังตะกรุดจำนวน นับหมื่นคน ต้องอาศัย สารวัตรทหาร (สห.) และตำรวจเป็นจำนวนมาก มาอำนวยความสะดวก
    • การเหยียบเอกสาร เกิดจากกระแสสังคม ในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู ช่วงปี 2530 ที่มีการซื้อขาย ทำธุรกิจที่เกี่ยวกับที่ดินมากมาย หรือที่เรียกกันว่า เศรษฐกิจยุคฟองสบู่ ใครอยากขายที่ได้ราคาก็มากราบขอพรหลวงพ่อคูณ เพื่อให้ท่านเหยียบโฉนดที่ดินให้ และ ก็ได้ราคาสมใจเสียด้วยทำให้ข่าวการเหยียบโฉนดที่ดินแพร่สะพัด ผู้คนเป็นจำนวนมากในแต่ละวันที่เดินทางมาเพื่อหวังให้หลวงพ่อคูณได้อธิษฐานจิตเหยียบโฉนดให้
  • หลวงพ่อคูณ มักจะกล่าวว่า “มันมาขอร่องกู ให่กูทำโน่นทำนี่ ให่กูเหยียบ กูก็เหยียบให่มัน จั๊กกูจะคัดใจมันไปทำไม มันจะได้สบายใจ แต่กูก็บอกว่าถ้าอยากขายให่คล่อง มึงก็ขายถูกๆ ให่พอใจคนซื่อถัวะไอ้นาย”
    • การเคาะหัว เนื่องจากสมัยก่อนหลวงพ่อคูณ ได้ประพรมน้ำพระพุทธมนต์เหมือนพระภิกษุสงฆ์โดยทั่วๆไป แต่ต่อมาในระยะต่อมา คณะศิษย์ที่เดินทางเข้ามากราบนมัสการขอพรบารมีจากท่านเป็นจำนวนมากมาย ถ้าพรมน้ำมนต์ให้แก่ทุกผู้ทุกคน น้ำคงจะเปียกปอนกันไปทั่วศาลาการเปรียญอย่างแน่นอน หลวงพ่อคูณ จึงได้มาอาศัยเคาะศีรษะแทนการรดน้ำมนต์ ซึ่งหลวงพ่อคูณ จะใช้ผ้าจีวรของท่าน ที่ผ่านปลุกเสกมาแล้วเป็นอย่างดี พันกันจนแน่นแล้วเอาผ้าเทปกาวพันลัด เป็นเหมือนไม้เคาะศีรษะ หลวงพ่อคูณให้เหตุผลว่า ก่อนจะเคาะ กูจะต้องใช้สมาธิ กำหนดจิตและอธิฐานว่า สจฺจ สจฺจํ อธิฏฐามิ และกล่าวขณะตีว่ากูจะตีเพื่อป้องกันโรคมะเร็ง ป้องกันโรคเบาหวาน ป้องกันโรคอัมพาต ป้องกันโรคหอบหืด
    • การตีหลัง ผู้ที่มีโรคภัยต่างๆไม่ว่าจะปวดหลัง ปวดเอว เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ ปวดศีรษะ และอื่นๆ ต่างเดินทางมาเพื่อให้หลวงพ่อคูณ ตีเพื่อรักษาโรคดังกล่าวให้และเช่นเดียวกัน คณะศิษย์เดินทางมากันเป็นจำนวนมาก หลวงพ่อคูณ ก็ได้ปลุกเสกผ้าจีวรที่ท่านใช้อยู่ นำมาดัดแปลงทำที่ตีรักษาโรคและให้ศิษย์ใกล้ชิดเป็นตัวแทนทำการตี ตามแต่ลูกหลานที่เดินทางมาจะขอร้องให้ตี ว่ามีอาการเจ็บป่วยตรงไหน ซึ่งก็เป็นความเชื่อสวนตัวของแต่ละคนไป
    • ก้นบุหรี่ ชาวชนบทในสมัยก่อนนิยมปลูกต้นยาสูบ ในช่วงปลายฤดูฝนแล้วนำใบยามาบ่มให้เหลือง แล้วนำมาซอยเป็นเส้นให้เล็กที่สุด ตากแห้งแล้วพับเป็นกลุ่มๆ สังคมนิยมชายวัยรุ่นในชนบทสมัยนั้น ส่วนใหญ่นิยมสูบยาเส้น โดยใช้ใบตองแห้งมาพันยาเส้นสูบ สมัยนั้น หลวงพ่อคูณเป็นคนหนุ่ม ก็เริ่มสูบยาเส้นมาตั้งแต่ เป็นวัยรุ่น จึงเป็นที่มาของเอกลักษณ์ของหลวงพ่อคูณ ที่ต้องนั่งยองๆตามแบบฉบับของคนโบราณ แล้วสูบยาเส้นมวนโตๆ ในการมวนยาเส้นในแต่ละครั้ง หลวงพ่อคูณที่นิยมนั่งยองๆ มือข้างซ้ายจะกำยาเส้นแล้วเป่าบริกรรมคาถาอย่างช้าๆ ส่วน มือด้านขวาท่านจะคลึงใบตองไปมาอย่างช้าๆเช่นกัน ทำให้คณะศิษย์ต่างหลงใหลแย่งชิงก้นยาเส้นที่ท่านเหลือจากสูบ เพื่อนำไปเก็บเอาไว้บูชา
  • จากการเป็นผู้มีเมตตาและเป็นพระนักพัฒนา ของหลวงพ่อคูณ ท่านจึงได้สร้างวัตถุมงคล ขึ้นมา เพื่อหาทุนในการก่อสร้างสถานที่ต่างๆ ที่เดือดร้อน โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ เช่น สร้างโรงพยาบาล โรงเรียน สถานีตำรวจ วัดวาอารามต่างๆ ตามบัญชีที่ท่านบริจาคมากกว่า 4 พันล้านบาท
  • สิ่งที่พึงพอใจที่สุดคือการก่อสร้างวิทยาลัยเทคนิค หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ที่อ.ด่านขุนทด ที่ใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 450 ล้านบาท ที่ให้ลูกหลานชาวด่านขุนทด ได้มีสถานที่เรียน ไม่ต้องเดินทางไปเรียนยังต่างจังหวัดไกลๆ เสียค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากลูกหลานชาวด่านขุนทด ส่วนใหญ่ยากจน
  • จากการที่ท่านต้องบริจาคเงินและก่อสร้างสาธารณะกุศล เพื่อเป็นทานบารมี เป็นจำนวนเงินมากมายมหาศาล ท่านจึงต้องสร้างวัตถุมงคลขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ศิษยานุศิษย์จากทั่วสารทิศ เข้าไปบูชาหลวงพ่อคูณ สร้างวัตถุมงคลขึ้นมามากกว่า3,000 รุ่น
  • หลวงพ่อคูณ กล่าวว่า “อย่าได้พากันประมาทและอย่าหลงงมงายเด้อ การที่พวกมึงมีวัตถุมงคลติดตัว ไม่ใช่ว่าจะทำให้เราเป็นคนเก่งกล้าสามารถนึกโอ้อวด หยิ่งยะโสโอหัง เรื่อยไปไม่ได้ แต่ให้ระลึกอยู่เสมอว่าพระมากับเรา พระไม่อยู่กับคนชั่ว จะอยู่กับคนดี ให้นึกเสียว่า พระมากับเราจะทำชั่วไม่ได้ อย่าทำตัวผิดศีลธรรม ผิดจารีตประเพณี โดยเฉพาะการกระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทมีเมตราธรรม”
  • นอกจากนี้ หลวงพ่อคูณ จะพูดเสมอกับศิษย์ใกล้ชิดว่า “พวกมึงจงฟังกูเอาไว้ให้ดี เงินที่เขาถวายกู มานั้นมันไม่ใช่เงินของกู เขาฝากให้กูสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน สร้างวัดวาอารามที่เขาเดือดร้อน ไปเอาของเขามาเป็นของเรานั้นไม่ได้ เงินที่เขาบริจาคมา เขายกเงินขึ้นเหนือหัวแล้วอธิฐาน ฝากให้กูเป็นธุระให้ในการก่อสร้างสาธารณะกุศล อย่าได้ไปหลงว่ามันเป็นเงินของเรา หากพวกมึงไม่เชื่อกู พวกมึงจงจำเอาไว้ให้ดี สัมมาอย่างไร ก็สัมไปอย่างนั้น”
  • และก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกศิษย์ใกล้ชิดที่ทำตัวร่ำรวยสุดท้ายแล้วไม่มีใครเหลืออะไรเลย
  • กระทั่งปี 2558 หลวงพ่อคูณ เข้ารับการรักษาอาการอาพาธ ด้วยภาวะหยุดหายใจ ปอดรั่ว ที่โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ต่อมาอาการอาพาธทรุดหนัก แพทย์ต้องฟอกไตและปั๊มหัวใจหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ หลวงพ่อคูณมรณภาพเมื่อเวลา11.45 น. วันที่16 พ.ค. 2558 สิริรวมอายุ 92 ปี พรรษา 70
  • ตามพินัยกรรมที่ทำขึ้นที่วัดบ้านไร่เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2543 มีสาระสำคัญคือ สรีระของหลวงพ่อเมื่อถึงแก่มรณภาพแล้วมอบให้กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อนำไปเป็นอาจารย์ใหญ่หรือศึกษาทางแพทย์ 2.กำหนดการฌาปนกิจ มอบให้คณะแพทยศาสตร์ มข. และศึกษาธิการอำเภอด่านขุนทดและนายอำเภอด่านขุนทดเป็นเจ้าภาพในการฌาปนกิจ รายละเอียดต่างๆนั้นคือให้บำเพ็ญกุศลศพที่คณะแพทยศาสตร์ มข. และให้นำศพไปถึง มข.ภายใน 24 ชั่วโมงซึ่งเขียนไว้ชัดเจน เมื่อถึงแล้วให้ทำการบำเพ็ญกุศลเป็นเวลา 7 วัน ภายใน 7 วันนั้นค่าใช้จ่ายให้นำเงินที่ได้บริจาคไว้จำนวน 300,000 บาทให้มาเป็นค่าใช้จ่ายในการบำเพ็ญกุศล หากมีผู้มาทำบุญก็ให้นำเงินดังกล่าวไปคืนให้คณะแพทยศาสตร์ที่ให้ไว้ หากยังมีเงินเหลืออีกให้นำเงินไปรักษาสงฆ์อาพาธที่อยู่ รพ.สงฆ์ใน จ.ขอนแก่น

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest
LinkedIn

การชำระเงินและการติดต่อ